จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553


การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475


ภายหลัง การปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีกระแสความคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย สูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันหลักที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นเป็น ลำดับ จนกระทั่งได้มีคณะนายทหารชุดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีความคิดที่ปฏิบัติการให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว แต่ไม่ทันลงมือกระทำการก็ถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2454 ในต้นรัชกาลที่ 6

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก นอกจากการปรับตัวของรัฐบาลทางด้านการเมืองการปกครองให้ทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่ประการใด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีคณะผู้ก่อการภายใต้การนำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2475 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย
สภาพการณ์โดยทั่วไปของบ้านเมืองก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1.สภาพการณ์ทางสังคม สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตกในทุกๆ ด้าน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปแผ่นดินเข้าสู่ความทันสมัยในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) ความจริงแล้วสังคมไทยเริ่มปรับตัวให้เข้ากับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 และกับประเทศอื่นๆในภาคพื้นยุโรปอีกหลายประเทศ และทรงเปิดรับรับประเพณีและวัฒนธรรมของตะวันตก เช่น การจ้างชาวตะวันตกให้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวัง การให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า การอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพร้อมกับขุนนางข้าราชการไทยในงานพระบรมราชาภิเษก เป็นต้น

2.สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เริ่มมีการส่งข้าวออกไปขายยังต่างประเทศมากขึ้น เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและความต้องการของตลาดโลก ชาวนาจึงหันมาปลูกข้าวเพื่อส่งออกมาขึ้น ทำให้มีการปลูกพืชอื่นๆ น้อยลง ผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ลดลงด้วยบางที่ก็เลิกผลิตไปเลย เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตข้าวแทน สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเห็นว่าถึงแม้รายได้ของแผ่นดินจะเพิ่มพูนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป แต่การที่ระบบการคลังของแผ่นดินยังไม่รัดกุมพอ ทำให้เกิดการรั่วไหลได้ง่าย จังทรงจัดการปฏิรูปการคลังโดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น เพื่อการปรับปรุงและการจัดระบบภาษีให้ทันสมัยใน พ.ศ.2416 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2434 เริ่มโครงการปฏิรูปเงินตราใหม่ พ.ศ.2442 จัดการส่งเสริมการเกษตรและการผลิตเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ปรับปรุงการคมนาคมให้ทันสมัยโดยการสร้างทางรถไฟ ตัดถนนสายต่างๆ ขุดคลอง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการคมนาคม การขนส่งสินค้าและผลผลิต ซึ่งผลการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น 15 ล้านบาทใน พ.ศ.2435 เป็น 46 ล้านบาทใน พ.ศ.2447 โดยไม่ได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษีขึ้นอย่างใด ทำให้เงินกองคลังของประเทศ ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ.2437 เพิ่มเป็น 32,000,000 บาทใน พ.ศ.2444 สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) ได้มีการส่งเสริมธุรกิจด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กิจการไฟฟ้า มีการจัดตั้งบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ส่งเสริมด้านชลประทานและการบำรุงพันธุ์ข้าว จัดตั้งธนาคารออมสิน สร้างทางรถไฟเพิ่มเติมจากเดิม ทั้งนี้เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่เนื่องจากได้อุทกภัยใน พ.ศ.2460 และเกิดฝนแล้งใน พ.ศ. 2462 ทำให้การผลิตข้าวอันเป็นที่มาของรายได้หลักของประเทศประสบความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อภาวะการคลังของประเทศอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทำให้งบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับมาโดยตลอดระหว่าง พ.ศ.2465-2468

3.สภาพการณ์ทางการเมือง สภาพการณ์ทางการเมืองและการปกครองของไทยกำลังอยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่แบบแผนการปกครองของตะวันตก เห็นได้จากพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ภายหลังที่ไทยได้มีการติดต่อกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-7สมัยรัชกาลที่ 4 ยังไม่ได้ทรงดำเนินนโยบายปรับปรุงการปกครองให้เป็นแบบตะวันตก แต่ก็ทรงมีแนวพระราชดำริโน้มเอียงไปในทางเสรีนิยม เช่น ประกาศให้เจ้านายและข้าราชการเลือกตั้งตำแหน่งมหาราชครูปุโรหิตและตำแหน่งพระมหาราชครูมหิธร อันเป็นตำแหน่งตุลาการที่ว่างลง แทนที่จะทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาตามพระราชอำนาจของพระองค์ และเปลี่ยนแปลงวิธีถวายน้ำพิพัฒน์สัตยา ด้วยการที่พระองค์ทรงเสวยน้ำพิพัฒน์สัตยาร่วมกับขุนนางข้าราชการและทรงปฏิญาณความซื่อสัตย์ของพระองค์ต่อขุนนางข้าราชการทั้งปวงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น